ทำบุญไหว้พระตราด 9 วัด ในเมือง พิกัดขอพรเสริมสิริมงคลให้ชีวิตดีไหว้พระตราด แนะนำสถานที่ไหว้พระ 9 วัด ตราด ในอำเภอเมือง ไปขอพรเสริมสิริมงคลและเสริมดวงให้ชีวิตดีกัน
ตราด เจ้าของคำขวัญ “เมืองเกาะครึ่งร้อย พลอยแดงค่าล้ำ ระกำแสนหวาน หลังอานหมาดี ยุทธนาวีเกาะช้าง สุดทางบูรพา” เป็นจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย รวมถึงมีวัดวาอารามและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มากมายให้ไปสักการะขอพรเสริมสิริมงคล วันนี้เราเลยจะมาแนะนำ สถานที่ไหว้พระตราด มีทั้งวัดเก่าแก่ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง และศาลเจ้าเลื่องชื่อ แต่จะมีที่ไหนบ้างนั้นไปชมกัน
1. ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองตราด
ศาลหลักเมือง ที่ตั้งอยู่บนถนนหลักเมือง ตำบลบางพระ อำเภอเมืองตราด ไม่ไกลจากวัดโยธานิมิตและอ่างเก็บน้ำสระสีเสียด (เขาระกำตอนล่าง) เป็นศาลหลักเมืองที่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมจีนโบราณ ลักษณะทรงสิงห์คล้ายพระราชวัง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อมกับวัดโยธานิมิต เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยังเป็นพระยาวชิรปราการ เดินทางมารวบรวมไพร่พลเพื่อกู้ชาติที่เมืองตราด ภายในแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ แท่นที่ประทับขององค์เจ้าพ่อหลักเมือง องค์เทพเจ้ากำเที่ยงไต้ตี่ และเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี้ย ส่วนด้านหน้าอาคารจะเป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองและเสาศิวลึงค์ ในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี จะมีวันงานพลีเมือง (วันเซี่ยกงแซยิด) หมายถึงวันเกิดของเจ้าพ่อหลักเมือง
2. วัดโยธานิมิต
พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย หรือที่เรียกกันว่า วัดโบสถ์ วัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ในตำบลบางพระ อำเภอเมืองตราด ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด แต่เล่ากันว่าสร้างขึ้นเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชรวบรวมไพร่พลที่เมืองตราด และเสร็จสมบูรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ภายในวัดมีพระอุโบสถศิลปะแบบอยุธยา มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก ปัจจุบันกลายเป็นพระวิหาร เรียกว่า วิหารโยธานิมิต และเป็นที่เก็บโบราณวัตถุ เช่น หนังสือใบลาน คัมภีร์เทศน์ และรอยพระพุทธบาท อีกทั้งยังมีศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชให้ได้สักการะกันด้วย
3. วัดไผ่ล้อม
วัดไผ่ล้อม วัดสำคัญในจังหวัดตราด ตั้งอยู่บนถนนหลักเมือง ตำบลบางพระ อำเภอเมืองตราด เพราะเคยเป็นที่พำนักของ พระวิมลเมธาจารย์วรญาณคณานุรักษ์ สังฆโมกข์ (เจ้ง จนฺทสโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม บิดาแห่งการศึกษาจังหวัดตราด สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2326 (ตามหนังสือรับรองสภาพวัดของกรมการศาสนา) แต่ไม่มีปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง ภายในบรรยากาศสงบ ร่มรื่น มีเจดีย์พิพิธภัณฑ์สามท่านเจ้าคุณ และสวนพุทธธรรมที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม
4. วัดคีรีวิหาร
พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เป็นวัดเก่าแก่อายุกว่าร้อยปี ตั้งอยู่ที่บ้านท่าเลื่อน ตำบลตะกาง อำเภอเมืองตราด เดิมชื่อว่า วัดท่าเลื่อน หรือ วัดภูเขายวน ในทำเลซึ่งมองเห็นวิวทิวทัศน์ของป่าเขาและท้องทะเล อาณาบริเวณวัดมีความสงบ ร่มรื่นด้วยสวนป่าสักที่ปลูกเรียงรายเป็นระเบียบ ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถหลังใหญ่, พระเจดีย์, วิหารจีนอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธอุดมสมบูรณ์ พระอวโลกิเตศวร พระสังกัจจายน์ และเรือนรับรองสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นต้น
5. วัดบุปผาราม
วัดบุปผาราม หรือ วัดปลายคลอง ตั้งอยู่ที่บ้านปลายคลอง ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมืองตราด วัดเก่าแก่ที่สุดของจังหวัดตราด สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ราวรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2191) ต่อมาภายหลังท่านพระครูคุณสารพิสุทธิ์ (หลวงพ่อโห) อดีตเจ้าอาวาสในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้บูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะถาวรวัตถุในวัดจนมาถึงปัจจุบัน ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระอุโบสถที่ประดิษฐาน หลวงพ่อโต พระประธานปางมารวิชัย ทำจากทรายแดงฉาบปูน พระนขา (เล็บมือ) จะเป็นสีขาวขุ่นเหมือนเล็บมือจริง ๆ, พิพิธภัณฑ์วัดบุปผาราม แหล่งรวบรวมโบราณวัตถุอันทรงคุณค่า โดยเฉพาะพระบรมสารีริกธาตุ รวมทั้งภาพจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่ภายในพระอุโบสถและวิหารพระพุทธไสยาสน์ เป็นต้น
6. วัดศรีบูรพาราม
วัดศรีบูรพาราม หรือที่เรียกว่า วัดเกาะตะเคียน ตั้งอยู่ที่บ้านเกาะตะเคียน ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมืองตราด ไม่ไกลจากฝูงบิน 306 กองทัพอากาศ ผู้คนมักไปกราบไหว้ พระครูสังฆกิจบูรพา หรือ หลวงปู่บัว ถามโก หรือ พระอาจารย์บัว เจ้าอาวาสวัดศรีบูรพาราม พระผู้มีวัตรปฏิบัติงดงามแห่งเมืองตราด และยังนิยมบูชา น้ำมันงา หลวงปู่บัว เพราะเชื่อกันว่ามีพุทธคุณด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาด อยู่ยงคงกระพัน นอกจากนี้ยังไม่ควรพลาดไปสักการะท้าวเวสสุวรรณองค์สีขาวงามสง่า และชมมหาเจดีย์ศรีบูรพาด้วย
7. พระพุทธสิริภูวดลมงคลชัย
พระพุทธสิริภูวดลมงคลชัย หรือ พระจมน้ำ 1 ใน 25 UNSEEN New Series ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นพระพุทธรูปสูงกว่า 5 เมตร จมอยู่ในน้ำกลางอ่างเก็บน้ำเขาระกำ โดยในอดีตจุดที่ตั้งของพระพุทธรูปเคยเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์เขาระกำ ตำบลหนองโสน อำเภอเมืองตราด ก่อนจะมีการสร้างพื้นที่อ่างเก็บน้ำเพิ่มจนทำให้น้ำท่วมถึง กลายเป็นจุดที่ชาวบ้านเรียกว่า "พระจมน้ำ" อย่างในปัจจุบัน ทั้งนี้ ยามน้ำลดจะเห็นองค์พระเต็มองค์ สามารถเดินลงไปสักการะขอพรใกล้ ๆ ได้
พระจมน้ำ
8. วัดสุวรรณมงคล
วัดสุวรรณมงคล ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองเสม็ด อำเภอเมืองตราด ไม่ไกลจากที่ว่าการอำเภอเมืองตราด สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2351 เป็นวัดเก่าแก่คู่ชุมชนบ้านท่าตะเภามาอย่างยาวนาน สถานที่ประดิษฐาน พระพุทธสุวรรณมงคล (หลวงพ่อทอง) พระพุทธรูปนั่ง ปางมารวิชัย ศิลปะในสมัยพระเจ้าอู่ทอง สร้างด้วยเนื้อโลหะ ขนาดหน้าตักกว้าง 4 ศอก สูง 6 ศอก โดยสมเด็จเจ้านวลซึ่งเป็นญาติกับพระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาสในสมัยนั้น เป็นผู้อัญเชิญมาจากวัดสังข์กระจาย ธนบุรี มาทางเรือสำเภา เข้าคลองท่าตะเภา และจะชักพระขึ้นที่หน้าวัด โดยทำอย่างไรพระพุทธรูปก็ไม่เคลื่อนที่ ต่อมามีอุบาสกเฒ่านุ่งขาวห่มขาวมาบอกให้หาละครรำนำหน้า (ละครชาตรี) แล้วให้ชาวบ้านช่วยกันชักพระขึ้น ปรากฏว่าเป็นไปอย่างง่ายดาย ชาวบ้านจึงได้อัญเชิญเป็นพระประธานในพระอุโบสถจนถึงปัจจุบัน และบริเวณผนังพระอุโบสถยังมีภาพวาดพุทธประวัติให้ชมกันด้วย
9. วัดลำดวน
วัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง บริเวณถนนตราด-แหลมงอบ ตำบลหนองเสม็ด อำเภอเมืองตราด สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีร่องรอยของประวัติศาสตร์จาก เจดีย์ศรีบูรพา เจดีย์โบราณขนาดใหญ่ ซึ่งกรมศิลปากรตรวจพิสูจน์พบว่ามีอายุมากกว่า 300 ปี นอกจากนี้ยังมีเจดีย์บริวารอีก 4 องค์ และพระพุทธรูปปางสมาธิ 2 องค์ ลักษณะคล้ายพระพุทธรูปในศิลปะลังกา จากหลักฐานทางโบราณคดียังพบว่าเป็นที่ตั้งทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพื่อรวบรวมฝึกปรือกำลังพลกลับไปตีพม่ากู้กรุงศรีอยุธยากลับคืน ซึ่งหากไปยืนบนลานที่ตั้งเจดีย์จะมองเห็นเมืองตราดกว้างสุดสายตาอีกด้วย