head prakardsod






























































ผู้เขียน หัวข้อ: โรคปอดอักเสบ (pneumonitis)  (อ่าน 65 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 590
    • ดูรายละเอียด
โรคปอดอักเสบ (pneumonitis)
« เมื่อ: วันที่ 3 ตุลาคม 2024, 17:20:50 น. »
โรคปอดอักเสบ (pneumonitis)

โรคปอดอักเสบ (pneumonitis) หรือที่เรียกกันว่า ปอดบวม เป็นการอักเสบของเนื้อปอดที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะปอดอักเสบจากการติดเชื้อในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ ซึ่งบางครั้งการติดเชื้ออาจรุนแรงและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจึงควรได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไว้ก่อน

สาเหตุของโรคปอดอักเสบ

โรคปอดอักเสบเกิดได้จาก 2 สาเหตุ ได้แก่

ปอดอักเสบจากการติดเชื้อ หรือ pneumonia (ปอดบวม) เป็นชนิดของปอดอักเสบที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเชื้อโรคที่เข้าสู่ปอดและทำให้เกิดการอักเสบของถุงลมปอดและเนื้อเยื่อโดยรอบ ได้แก่ เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ซึ่งเชื้อที่พบจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุ และสภาพแวดล้อมที่เกิดโรค เช่น ได้รับเชื้อจากที่ชุมชนทั่วไป หรือจากภายในโรงพยาบาล
ทั้งนี้ เชื้อแบคทีเรียที่พบมักได้แก่ เชื้อ Streptococcus pneumoniae, เชื้อ Haemophilus influenzae type b, เชื้อ Chlamydia pneumoniae, เชื้อ Legionella spp. และเชื้อ Mycoplasma pneumoniae ส่วนเชื้อไวรัส ได้แก่ เชื้อ Respiratory Syncytial Virus (RSV), เชื้อ Influenza หรือเชื้อไข้หวัดใหญ่ และเชื้อราจากมูลนกหรือซากพืชซากสัตว์

ปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น เกิดจากการหายใจเอาสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น ฝุ่น ควัน สารเคมีที่ระเหยได้ นอกจากนี้ การใช้ยาปฏิชีวนะ ยาเคมีบำบัด และยาสำหรับควบคุมการเต้นของหัวใจบางชนิดก็อาจทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้

ปัจจัยเสี่ยงของโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ

โรคปอดอักเสบสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ในกรณีของปอดอักเสบจากการติดเชื้อ มักพบบ่อยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ ยังพบได้ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงดังนี้ คือ
-    ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในแผนกผู้ป่วยหนัก (ICU) 
-    ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจ
-    ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV, ผู้ป่วยโรคเอดส์, ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยมะเร็งระหว่างการให้เคมีบำบัด หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกันเป็นเวลานาน
-    ผู้ที่สูบบุหรี่

สำหรับการรับเชื้อสามารถเกิดได้หลายวิธี เช่น
-    การไอ จาม หรือหายใจรดกัน ซึ่งเป็นการหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศในรูปละอองฝอยขนาดเล็กเข้าสู่ปอดโดยตรง
-    การสำลักเชื้อที่สะสมอยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบนลงสู่ปอด เช่น สำลักน้ำลาย อาหาร หรือสารคัดหลั่งในทางเดินอาหาร กรณีนี้พบได้ในผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
-    การแพร่กระจายของเชื้อตามกระแสโลหิต โดยผู้ป่วยอาจติดเชื้อที่อวัยวะอื่นนำมาก่อน เช่น ผู้ป่วยที่ใส่สายสวนปัสสาวะ หรือใส่สายเข้าหลอดเลือดดำใหญ่เป็นเวลานานๆ
-    การลุกลามจากการติดเชื้อที่อวัยวะข้างเคียงปอด เช่น เป็นฝีในตับแตกเข้าสู่เนื้อปอด
-    การทำหัตถการบางอย่างในโรงพยาบาล เช่น การส่องกล้องหลอดลม (bronchoscopy) การดูดเสมหะที่ไม่ระวังการปนเปื้อน การใช้เครื่องช่วยหายใจ เครื่องมือทดสอบสมรรถภาพปอด หรืออุปกรณ์ให้ความชื้นในรูปฝอยละออง (nebulizer) ที่มีเชื้อปนเปื้อน หรือแม้แต่การได้รับเชื้อผ่านทางมือของบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ได้ล้างให้สะอาดก็ทำให้เกิดปอดอักเสบได้


การวินิจฉัยโรคปอดอักเสบ

แพทย์วินิจฉัยโรคปอดอักเสบได้โดยการซักประวัติ สอบถามอาการโดยเฉพาะอาการไอแบบมีเสมหะ มีไข้ และหายใจหอบในกรณีที่สงสัยว่าเกิดจากการติดเชื้อ ร่วมกับการตรวจร่างกาย เช่น ฟังเสียงปอด และเอกซเรย์ปอด
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคและแยกเชื้อที่เป็นสาเหตุ ได้แก่
-    ตรวจนับเม็ดเลือดขาวในเลือด เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ แต่ยังไม่สามารถแยกชนิดของเชื้อโรคได้อย่างชัดเจน
-    ตรวจวัดออกซิเจนในเลือด เพื่อดูประสิทธิภาพของปอดในการลำเลียงออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดว่าลดลงหรือไม่
-    ตรวจและเพาะเชื้อจากเสมหะและเลือด เพื่อหาชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค
 

อาการของโรคปอดอักเสบ

แม้ว่าโรคปอดอักเสบจากทั้งสองสาเหตุจะมีอาการใกล้เคียงกัน แต่วิธีการป้องกันและรักษาแตกต่างกัน และเนื่องจากโรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อสามารถติดต่อได้ง่ายจึงเป็นชนิดที่พบได้มากกว่า และจำเป็นต้องเฝ้าระวังผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาด

สำหรับอาการของโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ ได้แก่
-    ไอมีเสมหะ
-    เจ็บหน้าอกขณะหายใจหรือไอ
-    หายใจเร็ว หายใจหอบ หายใจลำบาก
-    มีไข้ เหงื่อออก หนาวสั่น
-    คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย
-    อ่อนเพลีย
-    ผู้สูงอายุอาจมีอาการซึม ความรู้สึกสับสน อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ
-    เด็กเล็กอาจมีอาการท้องอืด อาเจียน ซึม ไม่ดูดนมหรือน้ำ
ทั้งนี้ ระดับความรุนแรงของอาการจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ อายุ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย


การรักษาโรคปอดอักเสบ

การรักษาโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ เป็นการรักษาการติดเชื้อร่วมกับการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น โดยทางเลือกในการรักษาประกอบด้วย

-    การให้ยาปฏิชีวนะ ใช้ในกรณีของการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยแพทย์จะเลือกใช้ยาปฏิชีวนะตามเชื้อที่คิดว่าเป็นสาเหตุของโรคจากข้อมูลทางคลินิกและทางระบาดวิทยา อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่าการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างแพร่หลายอาจทำให้เชื้อบางชนิด เช่น Streptococcus pneumoniae มีการดื้อยาเพิ่มมากขึ้น
-    การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ สำหรับผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส และเชื้ออื่นๆ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้ยาลดไข้ ยาขยายหลอดลม ยาละลายเสมหะ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ให้ออกซิเจน และทำกายภาพบำบัดทรวงอก เป็นต้น
-    การรักษาภาวะแทรกซ้อน เป็นกรณีที่พบได้ในกลุ่มเสี่ยง โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยได้แก่ เชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายจากปอดเข้าสู่กระแสเลือดส่งผลให้อวัยวะอื่นๆ ติดเชื้อตามไปด้วย บางรายอาจพบฝีในปอด หรือเกิดภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดที่จำเป็นต้องเจาะหรือดูดออก ในรายที่อาการรุนแรงมาก ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะหายใจล้มเหลวซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตและจำเป็นต้องใส่ท่อเข้าหลอดลมร่วมกับเครื่องช่วยหายใจ


การป้องกันโรคปอดอักเสบ

โรคปอดอักเสบโดยเฉพาะที่เกิดจากการติดเชื้ออาจมีความรุนแรงมากจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ การป้องกันโรคจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

    ฉีดวัคซีนป้องกันโรค   แพทย์แนะนำให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงซึ่งหมายถึง เด็กเล็ก ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำหรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง ฉีดวัคซีนที่ให้ผลในการลดอัตราการเกิดโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อซึ่งได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Flu vaccine) และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (Pneumococcal vaccine) สำหรับป้องกันการติดเชื้อ Streptococcus pneumonia หรือที่เรียกกันว่าเชื้อนิวโมคอคคัส โดยวัคซีนนี้ มี 2 ชนิด คือ

    วัคซีนแบบโพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharide) สำหรับฉีดในผู้ใหญ่ที่มีปัจจัยเสี่ยงและผู้สูงอายุ โดยควรฉีดซ้ำหลังจากเข็มแรก 5 ปี
    วัคซีนแบบคอนจูเกต (Conjugate) แบ่งออกเป็นชนิดป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส 7 สายพันธุ์ (PCV7), 10 สายพันธุ์ (PCV10) และ 13 สายพันธุ์ (PCV13) ทั้งสามชนิดได้รับการรับรองให้ฉีดป้องกันเชื้อในเด็กตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ – 5 ปี ยกเว้นวัคซีนชนิด 13 สายพันธุ์ที่ได้รับการรับรองให้ฉีดในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและมีอายุ 50 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสามารถฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบพร้อมกันในวันเดียวได้ โดยฉีดคนละแขนและเป็นการฉีดแบบผู้ป่วยนอก หลังฉีดวัคซีนอาจมีอาการปวดบวมบริเวณที่ฉีดเล็กน้อยแต่จะหายเองได้ภายใน 2-3 วัน


ข้อปฏิบัติตัวง่ายๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคปอดอักเสบ

    ไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่จะไปทำลายกระบวนการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจตามธรรมชาติของปอด
    ดูแลสุขอนามัยส่วนตัว เช่น หมั่นล้างมือเป็นประจำ และหลีกเลี่ยงการไปอยู่ในที่ที่มีผู้คนหนาแน่น
    หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็น
    เมื่อเป็นหวัด หรือไข้หวัดใหญ่อย่าปล่อยทิ้งไว้ ควรรักษาให้หายขาดแต่เนิ่นๆ
    สร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
    ไม่ดื่มสุรามากจนมึนเมาเพราะอาจสำลักเอาเชื้อโรคจากปากเข้าปอด