หมอประจำบ้าน: จมูกตันข้างเดียว สาเหตุของอาการและวิธีการรับมืออาการจมูกตันหรือคัดจมูกมักจะเกิดขึ้นเมื่อเป็นไข้หวัดหรือมีอาการภูมิแพ้ แต่ในบางครั้งอาจเกิดอาการจมูกตันเพียงข้างเดียวเท่านั้น ซึ่งอาการจมูกตันข้างเดียวสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากอาการไข้หวัดทั่วไป หรือเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนั้น คุณจึงควรรู้สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการจมูกตันข้างเดียวและวิธีรับมืออย่างเหมาะสม
อาการจมูกตันข้างเดียวสามารถสังเกตได้ง่าย ๆ คือรู้สึกคัดจมูกหรือระคายเคืองภายในรูจมูกเพียงแค่ข้างเดียว และมักจะมีอาการน้ำมูกไหล ไอ จาม หรือเป็นไข้เกิดขึ้นด้วย นอกจากนี้ ในบางกรณีอาจมีอาการอื่น ๆ ที่รุนแรงเกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด หรือมีเลือดกำเดาไหลออกมาจากรูจมูกเพียงแค่ข้างเดียว
สาเหตุของอาการจมูกตันข้างเดียว
อาการจมูกตันข้างเดียวสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งสาเหตุที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สาเหตุที่สาเหตุอาจสามารถดูแลตัวเองเพื่อบรรเทาอาการได้ ไปจนถึงสาเหตุที่อาจต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ เช่น
1. การนอนตะแคง
เมื่อเรานอนตะแคง ใบหน้าข้างหนึ่งของเราจะแนบลงไปบนหมอน ซึ่งอาจเกิดการกดทับบริเวณโพรงจมูกได้ และหากเรานอนตะแคงท่าเดียวตลอดทั้งคืน เมื่อตื่นขึ้นมาก็อาจทำให้เกิดอาการจมูกตันข้างเดียวได้ แต่อาการจมูกตันข้างเดียวจากการนอนตะแคงนี้มักจะเกิดขึ้นแค่หลังจากตื่นนอน และสามารถหายเป็นปกติได้ในเวลาไม่นาน
2. อาการภูมิแพ้
อาการภูมิแพ้เป็นปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย เช่น ฝุ่น ควัน ไรฝุ่น เชื้อรา สารเคมี ละอองเกสรดอกไม้ สะเก็ดผิวหนังของสัตว์เลี้ยง รวมถึงสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จมูกตัน ซึ่งในบางทีก็อาจเกิดอาการจมูกตันข้างเดียวได้เช่นกัน
3. อาการไข้หวัด
เมื่อเป็นไข้หวัดตามฤดูกาล มักจะทำให้เกิดอาการคัดจมูก บวมในจมูก และหายใจครืดคราดจากการมีน้ำมูกที่เหนียวข้นสะสมคั่งค้างอยู่ภายในโพรงจมูกเป็นจำนวนมาก ซึ่งน้ำมูกอาจจะสะสมภายในรูจมูกแค่เพียงข้างเดียว จึงทำให้เกิดอาการจมูกตันข้างเดียว และส่งผลให้รู้สึกหายใจไม่สะดวกตามมา
4. ภาวะผนังกั้นช่องจมูกคด (Deviated Septum)
ภาวะผนังกั้นช่องจมูกคดเป็นภาวะที่กระดูกและกระดูกอ่อนบริเวณผนังกั้นจมูกทั้ง 2 ข้างมีความผิดปกติและไม่สมดุล โดยอาจเกิดขึ้นแต่กำเนิดหรือเกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการกระแทกอย่างรุนแรงบริเวณจมูก เมื่อรูจมูกทั้ง 2 ข้างมีความไม่เท่ากันมากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดอาการจมูกตันข้างเดียว และส่งผลกระทบต่อการหายใจได้
5. ภาวะจมูกอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากภูมิแพ้ (Vasomotor Rhinitis)
ภาวะจมูกอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากภูมิแพ้จะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม รวมถึงอาจมีอาการจมูกตันข้างเดียวด้วย ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การใช้ยาบางชนิด การรับประทานอาหารรสเผ็ด หรือการดมกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการระคายเคืองภายในโพรงจมูก และเกิดอาการจมูกตันข้างเดียวตามมา
6. การมีสิ่งแปลกปลอมอุดตันในรูจมูก
การมีสิ่งแปลกปลอมอุดตันภายในรูจมูกมักพบในเด็กเล็กที่ชอบนำสิ่งของแหย่เข้าไปภายในรูจมูกโดยที่ผู้ปกครองไม่ทันได้สังเกตเห็น โดยสิ่งแปลกปลอมที่อาจอุดตันภายในรูจมูกได้ เช่น ของเล่นขนาดเล็ก ลูกปัด ดินน้ำมัน รวมถึงอาหารบางอย่างด้วย และเมื่อสิ่งเหล่านี้เข้าไปอุดตันภายในรูจมูกก็จะทำให้เกิดอาการจมูกตันข้างเดียวตามมา
วิธีบรรเทาอาการจมูกตันข้างเดียว
เมื่อเกิดอาการจมูกตันข้างเดียวขึ้น วิธีแก้จมูกตันเหล่านี้อาจสามารถช่วยบรรเทาอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1. นอนยกศีรษะสูง
หากมีอาการจมูกตันข้างเดียวจากไข้หวัดหรืออาการภูมิแพ้ การนอนหงายและยกศีรษะขึ้นเล็กน้อยสามารถช่วยบรรเทาอาการจมูกตัน และช่วยให้หายใจโล่งขึ้นได้ เพราะการนอนราบจะทำให้เลือดคั่งค้างบริเวณศีรษะและจมูกมากเกินไป จนเกิดความรู้สึกอึดอัดตามมา จึงควรยกศีรษะขึ้นเล็กน้อยเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกมากขึ้น
2. รักษาความชุ่มชื้นในร่างกาย
การรักษาความชุ่มชื้นในร่างกายและความชื้นในอากาศบริเวณสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย สามารถช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกและอาการจมูกตันได้ โดยควรรักษาความชุ่มชื้นของร่างกายด้วยการดื่มน้ำในปริมาณที่ร่างกายต้องการอย่างเพียงพอ รวมถึงอาจใช้เครื่องทำความชื้นภายในบ้านหรืออาคารที่มีการเปิดแอร์ตลอดทั้งวัน เพื่อช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศด้วย
3. ประคบร้อน
อาการจมูกตันข้างเดียวสามารถบรรเทาได้ด้วยการประคบร้อน เพราะการประคบร้อนจะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ช่วยให้อาการอักเสบบริเวณโพรงจมูกลดลง รวมถึงช่วยให้รู้สึกหายใจสะดวกขึ้นด้วย โดยมีวิธีการคือนำผ้าชุบน้ำอุ่นบิดให้หมาด จากนั้นนำมาวางบริเวณจมูก แก้ม และหน้าผากทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที โดยสามารถประคบร้อนทุกครั้งเมื่อเกิดอาการจมูกตันข้างเดียวขึ้น
4. ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ
การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยบรรเทาอาการจมูกตันข้างเดียวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการล้างจมูกจะช่วยกำจัดน้ำมูกเหนียวข้นที่สะสมคั่งค้างอยู่ภายในโพรงจมูก ช่วยจำกัดสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองภายในโพรงจมูก จึงส่งผลให้อาการคัดจมูกและอาการหายใจครืดคราดบรรเทาลงได้
5. รับประทานยาที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป
ยาที่สามารถหาซื้อได้ตามร้ายขายยาทั่วไปหลายชนิดสามารถช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกและอาการน้ำมูกไหล ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการจมูกตันได้ เช่น ยาแก้คัดจมูก หรือยาแก้แพ้ อย่างไรก็ตาม ควรรับประทานยาตามคำแนะนำบนฉลาก หรือคำแนะนำของเภสัชกรอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอัตรายต่อสุขภาพตามมา
อย่างไรก็ตาม อาการจมูกตันข้างเดียวในบางกรณีอาจเกิดจากสาเหตุที่ร้ายแรงและจำเป็นต้องรับการรักษาจากแพทย์ ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นนอกเหนือจากอาการจมูกตัน เช่น หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด สูญเสียการรับกลิ่นและการรับรส มีอาการเจ็บปวดบริเวณใบหน้ามาก หรือมีเลือดไหลออกจากจมูก ควรรีบไปพบแพทย์