หมอออนไลน์: อาหารไม่ย่อย (Dyspepsia) อาหารไม่ย่อย หมายถึง อาการไม่สบายท้องตรงบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ ที่เกิดขึ้นระหว่างหรือหลังกินอาหาร โดยมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างร่วมกัน เช่น จุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในท้อง เรอบ่อย แสบท้อง เรอเปรี้ยว คลื่นไส้ หรืออาเจียนเล็กน้อย เป็นต้น อาการจะเป็นเฉพาะบริเวณระดับเหนือสะดือ จะไม่มีอาการปวดท้องในส่วนใต้สะดือ และไม่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่ายร่วมด้วย อาการนี้พบได้เกือบทุกคนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ บางรายเป็นครั้งคราว บางรายอาจเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง อาจมีสาเหตุได้หลากหลาย ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงโรคที่รุนแรงหรือร้ายแรง และความผิดปกติ (พยาธิสภาพ) อาจอยู่ทั้งในและนอกกระเพาะลำไส้
สาเหตุ
เนื่องจากอาการ "อาหารไม่ย่อย" เป็นอาการแสดงของโรค มิได้หมายถึงโรคจำเพาะชนิดใดชนิดหนึ่ง จึงอาจมีสาเหตุได้ต่าง ๆ ได้แก่
1. สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด (ประมาณร้อยละ 30-50 ของผู้ป่วยที่มีอาการอาหารไม่ย่อย) ก็คือ อาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผล (non-ulcer dyspepsia) ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากมีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมาก หรืออาจสัมพันธ์กับฮอร์โมน ความเครียดทางจิตใจ หรืออาหาร (เช่น อาหารมัน อาหารรสจัด อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารย่อยยาก) หรืออาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ เป็นต้น
2. โรคแผลเพ็ปติก กระเพาะอาหารอักเสบ
3. โรคกรดไหลย้อน
4. เกิดจากยา (เช่น แอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ สเตียรอยด์ ยาเม็ดโพแทสเซียมคลอไรด์ เตตราไซคลีน อีริโทรไมซิน เฟอร์รัสซัลเฟต ทีโอฟิลลีน เป็นต้น) รวมทั้งแอลกอฮอล์ (เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์) ชา กาแฟ และเครื่องดื่มกาเฟอีน
5. โรคของตับ ถุงน้ำดี และตับอ่อน เช่น ตับอักเสบ ตับแข็ง นิ่วน้ำดี ถุงน้ำดีอักเสบ ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง
6. มะเร็ง เช่น มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งตับ เป็นต้น ซึ่งมักพบในคนอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
7. กระเพาะอาหารขับเคลื่อนตัวช้า ทำให้มีอาหารตกค้างในกระเพาะอาหารอยู่นาน เช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่ระบบประสาทอัตโนมัติเสื่อม มีแผลหรือเนื้องอกในกระเพาะอาหาร เป็นต้น
8. อื่น ๆ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคกังวลทั่วไป โรคซึมเศร้า โรคลำไส้แปรปรวน เป็นต้น
อาการ
มีอาการปวดหรือไม่สบายท้อง ตรงบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ ลักษณะจุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในท้อง เรอบ่อย แสบท้อง เรอเปรี้ยว คลื่นไส้หรืออาเจียนเล็กน้อย อาการอาจมีเพียงอย่างเดียวหรือหลายอย่างร่วมกัน โดยเกิดขึ้นระหว่างกินข้าวหรือหลังกินข้าว
บางรายอาจมีประวัติกินยา ดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มกาเฟอีน หรือมีความเครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ
ในรายที่เป็นโรคกรดไหลย้อน จะมีอาการเรอเปรี้ยว หรือแสบลิ้นปี่ขึ้นมาถึงลำคอ เป็นมากเวลานอนราบ หรือก้มตัว
ในผู้ป่วยแผลเพ็ปติก มักมีอาการแสบท้องเวลาหิวหรือหิวก่อนเวลา หรือปวดท้องตอนดึก และทุเลาเมื่อกินยาลดกรด ดื่มนม หรือกินอาหาร มักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย
ในรายที่เป็นโรคตับ ถุงน้ำดี ตับอ่อน มะเร็งในช่องท้อง ในระยะแรกมีอาการแบบอาหารไม่ย่อย หรือแผลเพ็ปติก แต่ระยะต่อมามักมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ดีซ่าน หรือถ่ายดำ
ในรายที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด จะมีอาการจุกแน่นยอดอก และปวดร้าวขึ้นไปที่คอ ขากรรไกร หัวไหล่ พบในคนอายุ 40-50 ปีขึ้นไป อาจมีประวัติสูบบุหรี่ เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือภาวะไขมันในเลือดสูง
ภาวะแทรกซ้อน
มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นตามโรคที่เป็นสาเหตุ
การวินิจฉัย
แพทย์จะทำการซักถามอาการและประวัติการเจ็บป่วย และตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อค้นหาสาเหตุ
ในกรณีที่จำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุที่ชัดเจน แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์ กระเพาะลำไส้โดยการกลืนแป้งแบเรียม (barium meal/upper GI study) ใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะลำไส้ (endoscopy) เป็นต้น
การรักษาโดยแพทย์
ในรายที่ตรวจไม่พบสาเหตุชัดเจน แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ถ้ามีลมในท้องหรือเรอ ให้ยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือยาต้านกรดที่มีไซเมทิโคนผสม ถ้าไม่ได้ผล หรือคลื่นไส้ อาเจียน ให้ยาแก้อาเจียน (เช่น ดอมเพอริโดน) ก่อนอาหาร 3 มื้อ
ถ้ามีความเครียด วิตกกังวล หรือนอนไม่หลับให้ยากล่อมประสาท
ถ้าดีขึ้น ให้กินยาประมาณ 2-4 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ดี จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ
2. ถ้ามีอาการแสบท้องเวลาหิวหรือตอนดึก หรือจุกเสียดแน่นท้องหลังอาหาร เรอเปรี้ยว หรือมีประวัติกินยาแอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือดื่มแอลกอฮอล์ แพทย์จะให้ยาลดการสร้างกรดกลุ่มยับยั้งโปรตอนปั๊มป์ (เช่น โอเมพราโซล, แพนโทพราโซล, แลนโซพราโซล, ราบีพราโซล เป็นต้น) ถ้ารู้สึกทุเลาหลังกินยาได้ 2-3 ครั้ง ให้กินต่อจนครบ 2 สัปดาห์ และถ้ารู้สึกหายดีก็ให้กินยาต่อนานประมาณ 8 สัปดาห์ เพื่อครอบคลุมโรคแผลเพ็ปติกที่อาจเป็นสาเหตุของอาหารไม่ย่อยได้
3. แพทย์จะพิจารณาทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม (เช่น การใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะลำไส้ การตรวจอัลตราซาวนด์ หรือ คลื่นหัวใจ) ถ้ามีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
กินยาลดการสร้างกรด 2-3 ครั้งแล้วยังไม่รู้สึกทุเลาแม้แต่น้อย หรือทุเลาแล้วแต่กินยาจนครบ 2 สัปดาห์แล้วรู้สึกไม่หายดี หรือมีอาการกำเริบซ้ำหลังจากหยุดกินยาจนครบ 8 สัปดาห์แล้ว
มีอาการเบื่ออาหาร กลืนลำบาก น้ำหนักลด ซีด ตาเหลือง ตับโต ม้ามโต คลำได้ก้อนในท้อง อาเจียนรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายดำ
พบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
สงสัยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด หรือนิ่วน้ำดี
แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ
การดูแลตนเอง
ถ้ามีอาการจุกเสียด ท้องอืดท้องเฟ้อ ลมในท้องหรือเรอ ให้กินน้ำขิง ขมิ้นชัน หรือยาธาตุน้ำแดง*
ถ้ามีอาการปวดแสบใต้ลิ้นปี่เวลาหิวหรือก่อนมื้ออาหาร หรือจุกแน่นใต้ลิ้นปี่หลังกินอาหาร ให้กินยาน้ำลดกรด (ยาต้านกรด หรือ antacid)*
ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
กินยา 2-3 ครั้งแล้วไม่ทุเลา
มีอาการต่อเนื่องนานเกิน 2-3 ชั่วโมง หรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย
มีประวัติกินยาแก้ปวด ยาแก้ปวดข้อ หรือยาชุด หรือดื่มสุรา เป็นประจำ
มีประวัติเป็นโรคแผลเพ็ปติก โรคกรดไหลย้อน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูงมาก่อน
มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจหวิวใจสั่น หน้ามืด ปวดท้องรุนแรง เบื่ออาหาร กลืนลำบาก น้ำหนักลด ซีด ตาเหลือง อาเจียนรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ หรือคลำได้ก้อนในท้อง
พบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
พบในคนอ้วน หรือสูบบุหรี่
มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง
*เพื่อความปลอดภัย ควรขอคำแนะนำวิธีและขนาดยาที่ใช้ ผลข้างเคียงของยา และข้อควรระวังในการใช้ยา จากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะการใช้ยาในเด็ก สตรีที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวหรือมีการใช้ยาบางชนิดที่แพทย์สั่งใช้อยู่เป็นประจำ
การป้องกัน
สำหรับกลุ่มที่มีสาเหตุชัดเจน เช่น โรคแผลเพ็ปติก โรคกรดไหลย้อน ก็หาทางป้องกันตามวิธีป้องกันของโรคที่เป็นสาเหตุ
สำหรับกลุ่มที่แพทย์ตรวจแล้วไม่พบสาเหตุชัดเจน หากมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย ควรปฏิบัติตัวดังนี้
งดบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มกาเฟอีน ช็อกโกแลต น้ำอัดลม และหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาสเตียรอยด์ เป็นต้น
กินอาหารให้ตรงเวลาทุกมื้อ อย่ากินอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด อาหารมัน ของดอง หรืออาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรือย่อยยาก ควรกินอาหารเย็นก่อนเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมงขึ้นไป
ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด อย่ารีบเร่ง อย่ากินจนอิ่มมากเกินไป
หลังกินอาหารอิ่มอย่าล้มตัวลงนอน หรืออยู่ในท่าก้มงอตัว และอย่ารัดเข็มขัดแน่น
ถ้าน้ำหนักมากควรลดน้ำหนัก
ถ้าเครียดควรออกกำลังกายเป็นประจำ หรือหาวิธีผ่อนคลายความเครียด เช่น สวดมนต์ ไหว้พระ ทำสมาธิ ภาวนา ตามหลักศาสนาที่นับถือ หรือดูภาพยนตร์ ฟังเพลง เล่นดนตรี ปลูกต้นไม้ ทำงานอดิเรกหาความบันเทิงใจ
ข้อแนะนำ
1. ก่อนจะวินิจฉัยอาการจุกแน่นตรงลิ้นปี่ว่า เป็นเพียงอาหารไม่ย่อยที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน ควรมีการซักถามอาการและตรวจดูอาการอย่างละเอียด เพราะมีโรคหลายอย่างที่อาจมีอาการคล้ายอาหารไม่ย่อย เช่น โรคแผลเพ็ปติก โรคกรดไหลย้อน นิ่วน้ำดี โรคหัวใจขาดเลือด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ หรือมะเร็งในช่องท้องอื่น ๆ
2. มะเร็งกระเพาะอาหารระยะแรก (ซึ่งพบในคนอายุมากกว่า 40 ปีมากกว่าวัยที่ต่ำกว่า 40 ปี) อาจมีอาการคล้ายอาหารไม่ย่อย (dyspepsia หรือ "โรคกระเพาะ") และอาการสามารถทุเลาด้วยยาต้านกรดและยาลดการสร้างกรด แต่ต่อมาเมื่อแผลมะเร็งลุกลามมากขึ้น การใช้ยาจะไม่ได้ผล และจะมีอาการน้ำหนักลด อาเจียน หรือถ่ายดำตามมาได้ ดังนั้น หากรักษา "โรคกระเพาะ" โดยวินิจฉัยจากอาการแสดง 2 สัปดาห์แล้วไม่ดีขึ้น มีอาการกำเริบบ่อย หรือพบในคนอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์ให้ทำการตรวจพิเศษ (เช่น ส่องกล้องหรือเอกซเรย์กระเพาะลำไส้) เพื่อแยกแยะสาเหตุให้แน่ชัด หากพบว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารจะได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ ซึ่งได้ผลดีกว่าพบในระยะลุกลามแล้ว